คุณกำลังมองหาอะไร?

แนะนำหลักสูตร

________________________________________________________________________________

ชื่อหลักสูตร

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน  (เวชศาสตร์วิถีชีวิต)

Residency training in Preventive Medicine (Lifestyle Medicine)

ชื่อวุฒิบัตร

วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน  (เวชศาสตร์วิถีชีวิต)

Diploma of the Thai Board of Preventive Medicine (Lifestyle Medicine)

 

ความเป็นมา

      ในปี พ.ศ. 2558 ประชากรไทยร้อยละ 75 เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs โดยปัจจัยสำคัญเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมสุขภาพ และรูปแบบการดำเนินชีวิต
      “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” เป็นศาสตร์หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในด้านต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมทางกาย อาหารและโภชนาการ สุขภาพจิต สุขภาพการนอนหลับ การลด ละ เลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด และการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและสุขภาพทางเพศ และการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผลการประเมินเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุขพบว่าประชาชนอายุยืนยาวขึ้นแต่สูญเสียปีสุขภาวะเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ การสูบบุหรี่ การบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่เพียงพอ ภาวะอ้วนและการออกกำลังกาย จากการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อของกรมควบคุมโรคใน พ.ศ. 2547-2561 พบว่าประชาชนมีพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้นของน้ำหนักเกิน ภาวะอ้วนและการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ขณะที่การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ส่วนการกินผลไม้ แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังน้อยเพียงร้อยละ 24.3 ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่เรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
      หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านฯ สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต มีการระบุพันธกิจของแผนงานฝึกอบรม โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความสามารถที่ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา และการฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยโรคที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมสุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละบริบท รวมถึงการเฝ้าระวัง พฤติกรรมสุขภาพ และจัดการแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากความรู้และทักษะเฉพาะแล้ว แพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิตยังต้องมีความสามารถด้านอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้เพื่อให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ ความเป็นมืออาชีพ การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การปฏิบัติงานแบบสหสาขาวิชาชีพ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพของประเทศ การบริหารจัดการ กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัยผู้ป่วยเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และมีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต นโยบายการผลิตแพทย์ เวชศาสตร์ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของระบบสุขภาพรวมทั้งมิติด้านอื่นๆ ทางสังคม ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ 

พันธกิจของแผนงานฝึกอบรม

เพื่อผลิตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต ที่มีความสามารถดังนี้

1. ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้สามารถให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบ และให้บริการสุขภาพจากบุคลากรทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รับบริการ
2. ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้มีความสามารถในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้สามารถบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ และโรคติดต่อ รวมถึงสุขภาพทางเพศ
3. ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้มีความสามารถในการเรียนรู้ค้นคว้าตลอดชีวิต การทำวิจัย เป็นผู้นำในการสร้างงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนปรับตัวในการทำงานให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมในปัจจุบันและอนาคตได้
4. ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้สามารถทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในลักษณะสหสาขาวิชาชีพเพื่อสร้างรูปแบบการรักษาอย่างครบวงจร
5. ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านให้มีความรับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม จิตสาธารณะ รักษาสิทธิของผู้ใช้บริการ และเป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพ ตลอดจนมีความรับผิดชอบ ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อประชาชน ผู้ร่วมงาน และภาคีเครือข่าย

 

สมรรถนะตามเป้าประสงค์หลักในแต่ละระดับของการฝึกอบรมตามเกณฑ์
(Entrustable Professional Activities: EPA)

EPA 1 การประเมินวินิจฉัยสภาวะปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต
EPA 2 การวางแผนดำเนินการรักษาป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต
EPA 3 การจัดการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต และการจัดบริการเพื่อดูแลช่วยเหลือแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ
EPA 4 การวางแผนกำกับติดตามและประเมินผล ร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพเวลเนสและการดูแลสุขภาพ (Wellness and Healthcare)
EPA 5 การออกแบบ/พัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (การรักษาผู้ป่วยกลุ่มปัญหา
ที่เกิดจากสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต)
EPA 6 การสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการปรับพฤติกรรมแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการใช้ชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม (Communication for Development หรือ C4D)
EPA 7 การประเมินผลลัพธ์จากการปรับพฤติกรรมสุขภาพ
EPA 8 การบริหารจัดการชุมชน เพื่อป้องกันและส่งเสริมการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต

วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

  1. พัฒนาศักยภาพแพทย์ผู้เข้ารับการอบรมให้สามารถตอบสนองความต้องการทำงานของหน่วยงานต่างๆในกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์วิถีชีวิต
  2. พัฒนาศักยภาพแพทย์ผู้เข้ารับการอบรมให้สามารถประเมินวินิจฉัยสภาวะปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
  3. แพทย์ผู้เข้ารับการอบรมสามารถวางแผนดำเนินการรักษาป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต
  4. แพทย์ผู้เข้ารับการอบรมสามารถจัดการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพหรือรูปแบบการดำเนินชีวิตและการจัดบริการดูแลชjวยเหลือแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบรวมทั้งออกแบบโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากรูปแบบการดำเนินชีวิต
  5. มีความรู้ความสามารถในการเรียนรู้ค้นคว้าตลอดชีวิต เรียนรู้การศึกษาทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ จนนำไปสู่การถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ร่วมงานและประชาชน
  6. พัฒนาผู้เข้ารับการอบรมให้มีคุณธรรม จริยธรรม จิตสาธารณะ มีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน สามารถเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี และทำงานร่วมกับทีมสุขภาพในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้

 

โครงสร้างหลักสูตร

     รูปแบบการเรียนการสอน จะจัดการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานภาคสนาม เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านมีความรู้และทักษะ ในการปฏิบัติงานด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเวลา 2 ปีที่กรมอนามัย (Two year in service training program)  และศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาสาธารณสุขศาสตร์หรือด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือเทียบเท่าระยะเวลาในการศึกษาไม่น้อยกว่า 10 เดือน

     กรณีที่แพทย์ประจำบ้านของสถาบันฯ เป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท/ปริญญาเอก/มีวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทางสถาบันฯ จะปรึกษาคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบให้พิจารณาความเหมาะสมให้ยกเว้นการศึกษาต่อปริญญาโท สาขาสาธารณสุขศาสตร์ หรือเทียบเท่า แต่ทำวิจัยที่มีคุณภาพและได้รับการเผยแพร่ ตีพิมพ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิต จำนวน 1 เรื่อง ในระหว่างที่อบรมกับกรมอนามัย 2 ปี อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับผลพิจารณาของคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบว่าต้องเรียนหรือไม่

 

รูปแบบการเรียนการสอน

รูปแบบการฝึกอบรมของหลักสูตร จะจัดกิจกรรมให้แพทย์ประจำบ้านได้เรียนรู้ หลากหลายรูปแบบ

  1. การฝึกอบรมภาคทฤษฎีจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ทำให้แพทย์ประจำบ้าน มีความรู้ความเข้าใจในหลักวิชาการก่อนนำไปใช้ในสถานการณ์จริงรวมถึงการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการนำเสนอทางวิชาการ การทำวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
  2. การสัมมนาวิชาการ ทั้งการวิจารณ์บทความวารสารวิชาการ(Journal club)และการสัมมนาหัวข้อที่น่าสนใจ(interesting topics seminar) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ ด้วยการอ่านบทความในวารสารและสร้างนิสัยรักการอ่านวารสารวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน มีทักษะวิเคราะห์และวิพากษ์วิธีการศึกษาทางเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์วิถีชีวิตจากตัวอย่างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ
  3. การเรียนรู้แบบอื่นๆ สถาบันฝึกอบรมส่งเสริมการเรียนรู้โดยสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านได้ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้แพทย์ประจำบ้านสามารถเลือกเรียนวิชาเลือกเสรีตามความสนใจ เช่น หลักสูตรอาชีวเวชศาสตร์พื้นฐานสำหรับแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และหลักสูตรเวชศาสตร์ป้องกันคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยการศึกษาดูงาน/เข้าร่วมประชุมวิชาการ/วิชาเลือกเสรี
  4. การวิจัย (Research) แพทย์ประจำบ้านเป็นผู้วิจัยหลักในการทำวิทยานิพนธ์ (วิจัยปฏิบัติการ) ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมสุขภาพ ตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต ตามโครงร่างการวิจัย ที่ผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการประจำหลักสูตรแล้ว ในระหว่างฝึกอบรมที่สถาบันในชั้นปีที่ 2 จำนวน 1 เรื่อง และจัดทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ในระดับปริญญาโท จำนวน 1 เรื่อง

   *เนื้อหารายวิชาอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

 

ระบบสนับสนุนการเรียนการสอน

สถานที่   สถาบันฯ จัดให้มีห้องพัก โต๊ะทำงาน และตู้เก็บของส่วนบุคคล สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ที่ปลอดภัย สะดวก และเหมาะสมสำหรับการฝึกอบรม

 

แหล่งค้นคว้าเรียนรู้

  1. มีแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ ห้องสมุดต่าง ๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข เช่น ห้องสมุดสถาบันฯ ห้องสมุดกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  2. มีหน่วยงานที่สนับสนุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยมีศูนย์อนามัยเป็นหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ซึ่งแต่ละศูนย์อนามัยมีคลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต( Lifestyle medicine clinic) ที่ให้การบริการสุขภาพแก่ประชาชนตามกลุ่มวัยและยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ที่พร้อมให้ความร่วมมือและร่วมกันขับเคลื่อนงานและพื้นที่แต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่คาดหวัง
  3. มีการจัดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเป็นทีมร่วมกับผู้ร่วมงานและบุคลากรวิชาชีพอื่น
  4. มีการประยุกต์ความรู้พื้นฐานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การบูรณาการ ระหว่างการฝึกอบรมกับการวิจัยอย่างเพียงพอ และจัดหาแหล่งทุนวิจัย
  5. จัดให้มีการฝึกอบรมในสถาบันอื่นทั้งในและนอกประเทศ
  6. มีการนำความเชี่ยวชาญทางแพทยศาสตร์ศึกษามาใช้ในการจัดทำแผนการฝึกอบรม การดำเนินการฝึกอบรม และการประเมินการฝึกอบรม

 

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสารสนเทศ

  1. จัดให้มีอุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฝึกอบรมสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น Laptop Projector LCD เป็นต้น
  2. มีบริการอินเตอร์เน็ตไร้สาย เพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูล
  3. มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเรียนรู้ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพและถูกหลักจริยธรรม เช่น มีสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับการอนุญาตจากอาจารย์หรือวิทยากรเผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบัน ฯลฯ
  4. มีบริการห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของกรมอนามัย

 

คุณสมบัติผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

ผู้มีสิทธิ์สมัครแพทย์ประจำบ้าน (แผน ก)

1) ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรอง ได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว

       2) ผ่านการอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 1 ปี

       3) แพทย์ผู้มีต้นสังกัด

       4) ไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รสนิยมทางเพศ และเศรษฐฐานะ

       5) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง

       6) มีความประพฤติ ทักษะ ทัศนคติการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

       7) แผนงานฝึกอบรมฯมีนโยบาย ไม่กีดกันผู้มีความพิการหรือความเจ็บป่วย ยกเว้น กรณีที่ความพิการหรือความเจ็บป่วยนั้น อาจเป็นอุปสรรค ต่อการปฏิบัติงาน และความพิการหรือความเจ็บป่วยนั้นอาจส่งผลต่อ
ความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้รับบริการและตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรม

ผู้มีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนแพทย์ใช้ทุนปฏิบัติงานเพื่อการสอบวุฒิบัตรฯ (แผน ข)

ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

      1) เป็นแพทย์ในโครงการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปฏิบัติงานประจำสาขาในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขหรือปฏิบัติงานประจำสาขาในสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับอนุมัติจากแพทยสภาให้รับแพทย์ใช้ทุนปฏิบัติงานเพื่อการสอบวุฒิบัตรฯ (แผน ข)

      2) ผ่านการอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 1 ปี

      3) ไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รสนิยมทางเพศ และเศรษฐฐานะ

      4) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง

      5) มีความประพฤติ ทักษะ ทัศนคติการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

      6) แผนงานฝึกอบรมฯมีนโยบาย ไม่กีดกันผู้มีความพิการหรือความเจ็บป่วย ยกเว้น กรณีที่ความพิการหรือความเจ็บป่วยนั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และความพิการหรือความเจ็บป่วยนั้นอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย/ผู้รับบริการและตัวผู้เข้ารับการฝึกอบรม

 

จำนวนผู้เข้ารับการอบรม

        ผู้เข้ารับการฝึกอบรมปีละ 2-4 คน

 

กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม

ในการรับและการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม สถาบันฝึกอบรมโดยการคัดเลือกเป็นไปอย่างยุติธรรม โปร่งใส และเท่าเทียมกัน โดยมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. มีการประกาศคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ จำนวนแพทย์ประจำบ้านที่จะรับ และวิธีคัดเลือกผู้สมัครให้ชัดเจนผ่านเว็บไซต์และสื่อต่าง ๆ ของสถาบัน
  2. คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยละเอียด และแจ้งผู้สมัครให้รับทราบในกรณีที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
  3. คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครโดยวิธีการสอบสัมภาษณ์ ประเมินจากประสบการณ์ การทำงาน ประวัติการศึกษา ผลงานทางวิชาการ ทัศนคติ ฯลฯ และแจ้งหัวข้อในการประเมินคุณสมบัติให้ผู้สมัครรับทราบก่อนการสมัคร
  4. หลังการสอบคัดเลือก มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อลงมติเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม
  5. สถาบัน แจ้งผลการคัดเลือกให้ผู้สมัครและต้นสังกัดของผู้สมัครทราบเป็นลายลักษณ์อักษร
  6. รายงานผลการคัดเลือกไปยังสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
  7. ประกาศรายชื่อผลการคัดเลือกผ่านเว็บไซต์และสื่อต่างๆ ของสถาบัน

 

สถานที่ฝึกอบรม

หน่วยงานในสังกัด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่

  1. สถาบันปัณณทัต (สถาบันฝึกอบรมเวชศาสตร์ป้องกัน)
  2. ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่
  3. ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์
  4. ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น
  5. สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรุงเทพมหานคร

 

ติดต่อ : สถาบันปัณณทัต กรมอนามัย

88/22 หมู่.4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000

โทรศัพท์ : 02-590-4564 

E-mail : pannatat.institute@gmail.com